http://www.wannewsonline.com/

วันจันทร์ที่ 23 ธันวาคม 2024
ข่าวทั่วไปวาไรตี้

‘สมัชชาสุขภาพ ครั้งที่ 17’ ปิดฉากชื่นมื่น บรรลุ 2 นโยบายฯ สร้างเศรษฐกิจยุคใหม่

‘สมัชชาสุขภาพ ครั้งที่ 17’ ปิดฉากชื่นมื่น
บรรลุ 2 นโยบายฯ สร้างเศรษฐกิจยุคใหม่

 

สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 ปิดฉากลงอย่างชื่นมื่น สมาชิกกว่า 3,000 ชีวิต ให้การรับรอง 2 ระเบียบวาระ “พลิกโฉมกำลังคนเพื่อสังคมสุขภาวะ – การท่องเที่ยวแนวใหม่ สู่สุขภาวะและเศรษฐกิจไทยยั่งยืน” โดยไม่มีเสียงคัดค้าน ขณะที่ผู้แทนหน่วยงานองค์กรพร้อมใจกล่าวถ้อยแถลง ประกาศสนับสนุนการขับเคลื่อน 2 มติสมัชชาสุขภาพฯ เพื่อสร้างเศรษฐกิจยุคใหม่-สร้างสุขภาวะไทยยั่งยืน

 

วันสุดท้ายของงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 พ.ศ. 2567 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายยุทธศาสตร์ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27-28 พ.ย. 2567 ณ อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี ภายใต้ประเด็นหลัก “เศรษฐกิจยุคใหม่ สร้างสุขภาวะไทยยั่งยืน” ยังคงเป็นไปอย่างคึกคัก โดยที่ประชุมซึ่งมีผู้เข้าร่วมทั้ง onsite และผ่านระบบ online รวมกว่า 3,000 คน ได้ร่วมกันให้การรับรองระเบียบวาระสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 จำนวน 2 มติ อย่างเป็นฉันทมติ คือไม่มีผู้คัดค้านแม้แต่รายเดียว
สำหรับ 2 ระเบียบวาระที่ได้รับการรับรอง ประกอบด้วย 1. พลิกโฉมกำลังคนเพื่อสังคมสุขภาวะ 2. การท่องเที่ยวแนวใหม่ สู่สุขภาวะและเศรษฐกิจไทยยั่งยืน โดยผู้แทนหน่วยองค์กรและภาคีเครือข่ายต่างพร้อมใจกันกล่าวถ้อยแถลงสนับสนุนการขับเคลื่อนทั้ง 2 ระเบียบวาระ ให้เกิดรูปธรรมต่อไป และในตอนท้ายของการประชุมมีการประกาศ 2 ระเบียบวาระที่จะเข้าสู่การพิจารณาในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 18 ซึ่งจะจัดในเดือน ก.ค. 2568 จำนวน 2 ประเด็น คือ 1. การสร้างโอกาสและมูลค่าร่วมใน silver economy 2. การเข้าถึงและการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างมีส่วนร่วมและสร้างสรรค์ พร้อมทั้งแต่งตั้ง ดร.อังคณา เลขะกุล เข้ามาเป็นประธานอนุกรรมการกำกับ สนับสนุน และเชื่อมโยงกระบวนการสมัชชาสุขภาพด้วย

ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ ประธานคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) ครั้งที่ 17-18 เปิดเผยว่า ทั้ง 2 ระเบียบวาระที่ได้รับฉันทมติร่วมกันในปีนี้ ได้ผ่านกระบวนการทำงานมาเป็นเวลากว่า 11 เดือน มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในระดับต่างๆ ทั้งในส่วนกลางและพื้นที่ เพื่อหาฉันทมติต่อร่างข้อเสนอในเบื้องต้นไปแล้วกว่า 26 ครั้ง คิดเป็นระยะเวลาการทำงานรวมกันกว่า 7,000 ชั่วโมง ผ่านการมีส่วนร่วมทั้งผู้แทนจากหน่วยงานของรัฐ ภาคประชาชน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จนสามารถบรรลุเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสาธารณะได้ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550

สำหรับมติ “พลิกโฉมกำลังคนเพื่อสังคมสุขภาวะ” (Transforming Workforce for Healthy Society) ทางคณะทำงานพัฒนาประเด็นฯ ที่มี ศ.วิจารณ์ พานิช เป็นประธาน ได้ดำเนินการจัดกระบวนการรับฟังความเห็น พัฒนาเอกสาร ทั้งในระดับพื้นที่และส่วนกลาง รวมทั้งหมด 13 กิจกรรม นับเป็นชั่วโมงการทำงานไม่น้อยกว่า 3,354 ชั่วโมง นับสัดส่วนการมีส่วนร่วมเป็นผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐ ร้อยละ 60 และเป็นผู้แทนของประชาชนผู้สนใจและมีส่วนเกี่ยวข้อง ร้อยละ 40
มติดังกล่าวมีกรอบทิศทางนโยบาย (Policy Statement) คือ การพลิกโฉมกำลังคนเพื่อสังคมสุขภาวะ ต้องใช้ระบบสุขภาพปฐมภูมิเป็นฐาน มีทีมสุขภาพที่มีคุณภาพ และจริยธรรม มีการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และนวัตกรรมอย่างเหมาะสม เพื่อเชื่อมโยงสุขภาวะและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างสมดุล ให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ที่ตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉิน สังคมสูงวัย รวมถึงความท้าทายใหม่โดยการวางแผนและลงทุนอย่างมีกลยุทธ์ ในการสร้างศักยภาพประชาชนให้เกิดความตระหนัก ตื่นรู้ มีความรอบรู้ด้านสุขภาพ ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของปัจเจกบุคคล ครอบครัว และชุมชน
รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต พัฒนาศักยภาพ และจัดการกำลังคน ทั้งกำลังคนวิชาชีพและไม่ใช่วิชาชีพ ให้มีเจตคติและพฤติกรรม ที่หนุนเสริมความเข้มแข็งของระบบสุขภาพปฐมภูมิให้ปรากฏ ตามแนวคิดของปรัชญาการพัฒนาคนโดยการระเบิดจากข้างใน มีศักยภาพที่เพียงพอและเหมาะสมในการเปลี่ยนผ่านบริการสุขภาพยุคดิจิทัล โดยมีระบบการทำงานและการจ้างงานที่เป็นธรรม มั่นคง มีคุณค่า และได้รับการดูแลให้มีความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาสุขภาวะและเศรษฐกิจที่ยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน

ในส่วนของมตินี้ ได้มีตัวแทนจากหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ร่วมกล่าวแสดงความชื่นชมคณะทำงานที่ได้ร่างมติข้อเสนอดังกล่าว พร้อมแสดงถ้อยแถลงเพื่อร่วมขับเคลื่อนมติ อาทิ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวถึงพันธกิจหลักในการผลิตและพัฒนากำลังคนที่มีสมรรถนะสูงเพื่อตอบโจทย์ประเทศ, กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวถึงพันธกิจในการสนับสนุนทุนมนุษย์ให้มีศักยภาพ สามารถพึ่งพาตนเองและช่วยเหลือผู้อื่นได้ รวมถึงความสำคัญของการจ้างงานผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบาง, กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงการสร้างโอกาสให้คนเข้าถึงการศึกษา พร้อมกับมีความรอบรู้ด้านสุขภาพเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ

กองสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) กล่าวถึงความสอดคล้องของแผนการพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับการจัดระบบบริการสุขภาพ ตามนิยามและเป้าหมายของ พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวย้ำถึงความสำคัญของกำลังคนด้านสุขภาพ ที่จะเป็นรากฐานให้เกิดการพัฒนาระบบบริการที่สอดรับกับทิศทางการดำเนินงานของกองทุนบัตรทอง ในการสนับสนุนหน่วยบริการโดยเฉพาะในระดับปฐมภูมิให้มีคุณภาพมาตรฐาน
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวแสดงจุดยืนสนับสนุนการพัฒนากำลังคนในมิติต่างๆ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่การสร้างสังคมสุขภาวะให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวสนับสนุนการพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพให้มีศักยภาพในการดูแลประชาชน โดยเฉพาะภายใต้บริบทการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่จะช่วยตอบโจทย์ระบบสุขภาพปฐมภูมิ สถานการณ์สังคมสูงวัย รวมทั้งภาวะฉุกเฉินและความท้าทายใหม่ๆ เป็นต้น

ในขณะที่มติ “การท่องเที่ยวแนวใหม่ สู่สุขภาวะและเศรษฐกิจไทยยั่งยืน” (New tourism approach toward sustainable economy and well-being) ทางคณะทำงานพัฒนาประเด็นฯ ที่มี มี นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เป็นประธาน ได้ดำเนินการจัดกระบวนการรับฟังความเห็น พัฒนาเอกสาร ทั้งในระดับพื้นที่และส่วนกลาง รวมทั้งหมด 11 กิจกรรม นับเป็นชั่วโมงการทำงานไม่น้อยกว่า 3,684 ชั่วโมง นับสัดส่วนการมีส่วนร่วมเป็นผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐ ร้อยละ 26 และเป็นผู้แทนของประชาชนผู้สนใจและมีส่วนเกี่ยวข้อง ร้อยละ 74
มติดังกล่าวมีกรอบทิศทางนโยบาย คือ ทุกภาคส่วนในสังคมให้ความสำคัญการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน โดยร่วมมือกันในการขับเคลื่อนให้พื้นที่ท่องเที่ยวมีคุณค่า มีความปลอดภัยมุ่งเน้นการสร้างสมดุลใน 5 มิติ “เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และสุขภาวะ” พร้อมร่วมกันบูรณาการสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากผ่านการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่ยั่งยืน อันจะนำไปสู่การพัฒนาสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนและประชาชน ร่วมกับการสร้างความรับผิดชอบของนักท่องเที่ยวและชุมชน เพื่อพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก
โดยดำเนินการผ่าน 1. พัฒนา ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานรองรับการท่องเที่ยวแบบมีคุณภาพและยั่งยืน 2. ยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ บริการ ภูมิปัญญา และประสบการณ์ที่ส่งผลต่อสุขภาวะของนักท่องเที่ยวและประชาชนในชุมชน รวมทั้งเป็นมิตรและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 3. พัฒนาศักยภาพและเสริมสร้างความตระหนักรู้วัฒนธรรมท่องเที่ยวแนวใหม่ สำหรับผู้รับบริการ ผู้ให้บริการ และนักท่องเที่ยว 4. กำหนดให้มีมาตรการ ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อการท่องเที่ยวแนวใหม่ที่เชื่อมโยงทั้งในระดับประเทศและระดับชุมชน และ 5. สนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับด้านอุปสงค์ อุปทาน และการประเมินผลกระทบที่เกิดจากการท่องเที่ยวแนวใหม่

ในส่วนของมตินี้ ได้มีตัวแทน

จากหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ร่วมกล่าวแสดงความชื่นชมคณะทำงานที่ได้ร่างมติข้อเสนอดังกล่าว พร้อมแสดงถ้อยแถลงเพื่อร่วมขับเคลื่อนมติ อาทิ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) กล่าวถึงบทบาทที่จะร่วมดำเนินการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมเพื่อให้สอดรับกับบริบทของการท่องเที่ยววิถีใหม่, กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวถึงความสำคัญของการส่งเสริมพัฒนาสินค้าและบริการ พร้อมยกระดับผู้ประกอบการให้มีมาตรฐาน, กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย (มท.) กล่าวถึงการสนับสนุนภารกิจในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากผ่านการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน

สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวสนับสนุนการท่องเที่ยวแนวใหม่ ที่จะส่งเสริมให้ประเทศไทยกลายเป็นจุดหมายปลายทางที่โดดเด่นในเวทีโลก และมีศักยภาพในการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งระดับท้องถิ่นและประเทศ, สมัชชาสุขภาพแห่งชาติภาคเยาวชน กล่าวถึงข้อเสนอของการสร้างกลไกเพื่อปกป้องสิทธิของชุมชนท้องถิ่นให้ได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยวอย่างเป็นธรรม พร้อมรักษาสมดุลระหว่างเศรษฐกิจกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้ได้อย่างยั่งยืน เป็นต้น

อนึ่ง มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่ทุกฝ่ายได้มาร่วมกันรับรองเป็นนโยบายสาธารณะวันนี้ จะถูกนำเสนอเข้าสู่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อประกาศให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำไปใช้เป็นกรอบหรือทิศทางหลักในการขับเคลื่อนงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

สำนักสื่อสาร สช.

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับ " ‘สมัชชาสุขภาพ ครั้งที่ 17’ ปิดฉากชื่นมื่น บรรลุ 2 นโยบายฯ สร้างเศรษฐกิจยุคใหม่ "

ข่าวทั่วไปวาไรตี้ ล่าสุด

เหล่ากาชาดจังหวัดเพชรบูรณ์ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ผู้ยากไร้ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราธิดา

เหล่ากาชาดจังหวัดเพชรบูรณ์ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ผู้ยากไร้ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราธิดา

อัพเดทล่าสุด

เหล่ากาชาดจังหวัดเพชรบูรณ์ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ผู้ยากไร้ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราธิดา

เหล่ากาชาดจังหวัดเพชรบูรณ์ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ผู้ยากไร้ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราธิดา

3 ธันวาคม 2024