http://www.wannewsonline.com/

วันจันทร์ที่ 23 ธันวาคม 2024
ข่าวทั่วไปวาไรตี้

เปิดฉาก ‘สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17’ ลุ้นเคาะ 2 นโยบายสาธารณะฯ ขับเคลื่อน ‘เศรษฐกิจ-สุขภาวะ’ แบบมีส่วนร่วม

เปิดฉาก ‘สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17’

ลุ้นเคาะ 2 นโยบายสาธารณะฯ

ขับเคลื่อน ‘เศรษฐกิจ-สุขภาวะ’ แบบมีส่วนร่วม

เริ่มแล้ว! “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17” กระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมระดับชาติ ท่ามกลางความสนใจของสมาชิกสมัชชาสุขภาพฯ และประชาชนทั่วประเทศอย่างล้นหลาม เพื่อแสวงหาฉันทมติ 2 ระเบียบวาระ “พลิกโฉมกำลังคน – ท่องเที่ยวแนวใหม่” หวังสร้างสมดุลเศรษฐกิจยุคใหม่ควบคู่สุขภาวะไทยยั่งยืน “เดชอิศม์” เปิด 8 ประเด็นรัฐบาลฝ่าความท้าทาย ขอทุกภาคส่วนร่วมมือผลักดัน ขณะที่ภาคีเครือข่ายฯ พร้อมใจประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของสังคมเพื่อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ตามมติสมัชชาอนามัยโลก

งานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 พ.ศ. 2567 ที่ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายยุทธศาสตร์จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 27-28 พ.ย. 2567 ณ อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี ภายใต้ประเด็นหลัก “เศรษฐกิจยุคใหม่ สร้างสุขภาวะไทยยั่งยืน” เปิดฉากขึ้นอย่างเป็นทางการในวันแรก โดยมี นายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รองประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิด ท่ามกลางผู้ที่เข้าร่วมทั้งทางระบบ online และ on-site อย่างเนืองแน่น

สำหรับกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เป็นกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะที่ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ให้การรับรอง และให้จัดขึ้นอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยในปี 2567 มีระเบียบวาระที่จะมีการพิจารณารับรองในงาน 2 ระเบียบวาระ ได้แก่ 1. พลิกโฉมกำลังคนเพื่อสังคมสุขภาวะ ซึ่งมีสาระสำคัญในการสร้างศักยภาพประชาชนให้เกิดความรอบรู้ด้านสุขภาพ พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและจัดการกำลังคน ทั้งวิชาชีพและไม่ใช่วิชาชีพ เข้ามาหนุนเสริมความเข้มแข็งของระบบสุขภาพปฐมภูมิ 2. การท่องเที่ยวแนวใหม่ สู่สุขภาวะและเศรษฐกิจไทยยั่งยืน ที่มีสาระสำคัญในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นการท่องเที่ยวคุณภาพสูง มีสุขภาวะทั้งนักท่องเที่ยวและพื้นที่ท่องเที่ยว พร้อมร่วมกันบูรณาการสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากผ่านการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่ยั่งยืน

นายเดชอิศม์ ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “เศรษฐกิจกับสุขภาพสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนของไทย: ความท้าทายคืออะไร?” ตอนหนึ่งว่า เศรษฐกิจกับสุขภาพถือเป็นประเด็นสำคัญสำหรับประเทศไทย โดยเฉพาะในสถานการณ์ความท้าทายที่ประเทศเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ (Aged Society) เศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพที่ควรจะเป็น และประเทศยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างในแง่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่จะส่งผลกระทบในหลายมิติ ซึ่งทั้งหมดนี้สะท้อนว่า การบูรณาการระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจกับการสร้างเสริมสุขภาวะของประชาชน รวมถึงแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว หรือ One health และแนวคิดทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ หรือ Health in All Policies มีความสำคัญมาก

สำหรับระเบียบวาระที่จะให้การรับรองเพื่อเป็นมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ประจำปี 2567 จำนวน 2 ระเบียบวาระ ได้แก่ “การท่องเที่ยวแนวใหม่ สู่สุขภาวะและเศรษฐกิจไทยยั่งยืน” และ “พลิกโฉมกำลังคนเพื่อสังคมสุขภาวะ” จะมีส่วนสำคัญในการเชื่อมโยงเรื่องของสุขภาพกับเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดการพัฒนาควบคู่กันไปได้อย่างสมดุล โดยการพัฒนาเศรษฐกิจต้องไม่ส่งผลกระทบด้านลบต่อเรื่องระบบสุขภาพของประเทศ ขณะเดียวกันก็ถือเป็นโอกาสในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และนำไปสู่สังคมสุขภาวะที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

นายเดชอิศม์ กล่าวต่อไปว่า กระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ถือเป็นกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนจากทุกภาคส่วนของสังคม เข้ามาร่วมกันสร้างนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมและขับเคลื่อนนโยบายเหล่านี้ด้วยกัน ฉะนั้นในฐานะรัฐบาลจึงอยากใช้โอกาสนี้ขอร่วมมือทุกภาคส่วนให้ความมุ่งมั่นในนโยบายสำคัญๆ อันได้แก่ 1. การมีส่วนร่วมในการรับมือกับภัยพิบัติ 2. การใช้ศักยภาพของเครือข่ายสุขภาพในการส่งเสริม ป้องกัน และควบคุมโรค 3. การรับมือกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) 4. การเตรียมพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์ด้านโครงสร้างประชากร 5. ให้ความสำคัญกับข้อมูลของระบบสุขภาพ ดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ 6. ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนระบบสุขภาพท้องถิ่น 7. ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียวและพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ผ่านการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่ยั่งยืน 8. ให้ความสำคัญกับการพัฒนากำลังคนเพื่อสุขภาพ โดยใช้ระบบสุขภาพปฐมภูมิเป็นฐาน

นอกจากนี้ ในส่วนของรัฐบาลและ สธ. จะทำงานเชิงรุกเพื่อดูแลและส่งเสริมอนามัยให้กับชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีสุขภาพที่ดีลดอาการเจ็บป่วย ลดการเข้ารักษาในโรงพยาบาล โดยมีหลักการที่สำคัญคือ “การกู้เอกราชทางสิ่งแวดล้อม” ด้วยการพัฒนาสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้น เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษคือต้นเหตุสำคัญของการเจ็บป่วย

“ในระดับกระทรวงมีนโยบายที่จะทำ MOU ร่วมกับกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อควบคุมดูแลสภาพอากาศ ป้องกันการเกิดน้ำท่วม ควบคุมการปล่อยน้ำเสียจากโรงงาน หรือการควบคุมคุณภาพน้ำดื่ม ตลอดจนการพัฒนาสมุนไพรเพื่อลดการใช้ยาแผนปัจจุบัน ซึ่งทั้งหมดนี้จะสำเร็จบรรลุผลได้จำเป็นต้องอาศัยการสานพลังการทำงานและกระบวนการมีส่วนร่วม” นายเดชอิศม์ กล่าว

ภายในงานวันเดียวกันนี้ ยังมีการประกาศเจตนารมณ์ของภาคีเครือข่ายนานาชาติ Social Participation ในการร่วมกันขับเคลื่อนมติสมัชชาอนามัยโลก เรื่อง การมีส่วนร่วมของสังคมเพื่อสุขภาวะ ซึ่งเป็นมติที่ประเทศไทยได้ร่วมพัฒนากับประเทศสโลวีเนีย และถูกรับรองโดยประเทศสมาชิกในที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) สมัยที่ 77 เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2567 โดยมีสาระสำคัญในการเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกดำเนินการสร้างการมีส่วนร่วมของสังคมให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน

ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ ประธานคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) ครั้งที่ 17-18 กล่าวว่า การจัดเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในปีนี้ นอกจากกิจกรรมหลักของการพิจารณาระเบียบวาระ รวมถึงเวทีเสวนา ประชุมวิชาการ (Mini-Symposium) และการปาฐกถาในหัวข้อต่างๆ ที่น่าสนใจมากมายแล้ว ยังมีอีกหนึ่งกิจกรรมสำคัญคือ “ตลาดนัดนโยบายสาธารณะ” (Policy Market) ที่จะนำเสนอประเด็นนโยบายทางสังคมต่างๆ รวมถึงพื้นที่กลางเพื่อให้เกิดการหารือและแลกเปลี่ยนประเด็นที่อาจพัฒนาในสมัชชาสุขภาพฯ ปีถัดๆ ไปได้ด้วย

ทั้งนี้ ภายในตลาดนัดนโยบายสาธารณะที่จัดขึ้นตลอด 2 วัน จะมีกิจกรรมย่อย อาทิ “เสวนานโยบาย” ในหัวข้อที่น่าสนใจ เช่น นวัตกรรมสร้างสุขที่ปลายทาง (Living Will), แนวคิดการประเมินเพื่อพัฒนา (DE), การปรับสภาวะแวดล้อมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ (NCDs), นวัตกรรมการลดอุบัติเหตุ, ถอดรหัสภัยพิบัติ ฯลฯ “สภากาแฟ” พูดคุยประเด็นต่างๆ เช่น นักสื่อสารรุ่นใหม่กับการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม, สมัชชาสุขภาพกับการจัดการภัยพิบัติ และ “พื้นที่สร้างสรรค์” การขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพกรุงเทพมหานคร, การระดมสมองคนรุ่นใหม่แก้ไขปัญหาสุขภาพช่องปาก พร้อมทั้ง Workshop ต่างๆ อีกมากมาย

 

นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ระเบียบวาระทั้ง 2 เรื่องที่ การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติจะพิจารณารับรอง หากได้รับฉันทมติเป็นที่เรียบร้อย ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการนำเสนอสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อประกาศให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำไปใช้เป็นกรอบหรือทิศทางหลักในการขับเคลื่อนงานตามนโยบายสาธารณะนั้นๆ ต่อไป ซึ่งนับตั้งแต่มี พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ได้มีการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มาแล้วจำนวน 16 ครั้ง มีมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ภาคีเครือข่ายได้มีฉันทมติร่วมกันรวมจำนวน 96 มติ

ข้อมูล>>กลุ่มงานสื่อสารสังคม สช.<<

โทร. 02-8329141

 

 

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับ " เปิดฉาก ‘สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17’ ลุ้นเคาะ 2 นโยบายสาธารณะฯ ขับเคลื่อน ‘เศรษฐกิจ-สุขภาวะ’ แบบมีส่วนร่วม "

ข่าวทั่วไปวาไรตี้ ล่าสุด

เหล่ากาชาดจังหวัดเพชรบูรณ์ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ผู้ยากไร้ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราธิดา

เหล่ากาชาดจังหวัดเพชรบูรณ์ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ผู้ยากไร้ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราธิดา

อัพเดทล่าสุด

เหล่ากาชาดจังหวัดเพชรบูรณ์ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ผู้ยากไร้ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราธิดา

เหล่ากาชาดจังหวัดเพชรบูรณ์ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ผู้ยากไร้ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราธิดา

3 ธันวาคม 2024