🚩หนุนเสริม “ประชาธิปไตยฐานราก”
สู่การขับเคลื่อนจังหวัดบูรณาการ “อำนาจเจริญเมืองธรรมเกษตร“
เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 ขบวนองค์กรชุมชนอำนาจเจริญ สภาองค์กรชุมชน และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ร่วมจัดเวทีกำหนดทิศทาง “อำนาจเจริญเมืองธรรมเกษตร” ภายใต้วิกฤติการณ์ปัจจุบัน” ณ ห้องประชุมสำนักงานสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขจังหวัดอำนาจเจริญ โดยมีผู้เข้าร่วมประกอบด้วย แกนนำขบวนองค์กรชุมชน/ ตำบล สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สภาเด็กและเยาวชน มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยมหิดล รวม 70 คน จากการสนับสนุนโดยขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดอำนาจเจริญ และโครงการวิจัยฯ ประชาธิปไตยอัตลักษณ์ไทย:ประชาธิปไตยฐานชุมชน
▫️เวทีนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ
1) ทบทวนและปรับปรุงแผนพัฒนาเมืองธรรมเกษตรอำนาจเจริญ ปี 2568 – 2576
2) แลกเปลี่ยนสถานการณ์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย
3) แลกเปลี่ยนเรียนรู้การสร้างประชาธิปไตยจากฐานรากเพื่อความยั่งยืน โดยตั้งเป้าหมายให้เกิดการปรับเปลี่ยนกระบวนการ วิธีการขับเคลื่อน “เมืองธรรมเกษตร” โดยรู้เท่าทันสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลก
เริ่มเปิดเวทีด้วยนายชาติวัฒน์ ร่วมสุข ประธานศูนย์ประสานงานองค์กรภาคประชาสังคม จ.อำนาจเจริญ กล่าวถึงการทบทวนเป้าหมายเมืองธรรมเกษตรในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยมีหน่วยงาน ภาควิชาการ มาสะท้อนความคิด ให้เกิดแนวทางการสนับสนุน เพื่อเป็นต้นแบบจังหวัดจัดการตนเอง การบูรณาการจากทุกภาคส่วน ราชการ หน่วยงาน วิชาการ ประชาชน เพื่อสร้างรูปธรรมให้เกิดการขับเคลื่อนร่วมกัน เมื่อเรามีจุดร่วม หน่วยงานพร้อมที่จะสนับสนุน การกำหนดทิศทางเมืองธรรมเกษตรจะเกิดคุณค่าเพื่อคนอำนาจเจริญ
จากนั้น ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) บรรยายพิเศษ ในหัวข้อ“การสร้างประชาธิปไตยจากฐานราก ทางเลือก หรือ ทางรอด” ย้ำถึงความจำเป็นของการสร้างประชาธิปไตยรากฐานในชุมชนท้องถิ่นไทย ให้เกิดความเข้มแข็ง พร้อมยืนหยัดท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลก ซึ่งการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ที่มีอำนาจต่อรองทางนโยบาย จะเป็นต้นทุนสำคัญของประเทศ อย่างไรก็ตาม ประเฟทศไทยยังคงประสบปัญหาจากประชาธิปไตยที่ไร้ฐานราก เนื่องจาก
1.ประเทศไทยไม่มีจุดยึดโยงมาจากพื้นที่ ไม่มีฐานในเชิงพื้นที่/ชุมชน ฐานรากคือสิ่งสำคัญในการออกแบบประชาธิปไตย หากฐานรากไม่ดี จึงออกแบบสถาบันทางการเมืองไม่ได้
2.ต้องมีภาคประชาสังคมที่เข้มแข็งเพื่อถ่วงดุลให้การเมืองมีเสถียรภาพ มีความต่อเนื่องในการกำหนดนโยบายสาธารณะ
3.ฐานรากชุมชนท้องถิ่นต้องมีบทบาทในการกำหนดตนเองเป็นพื้นฐานสำคัญของประชาธิปไตย
4.ฐานรากเป็นการสร้างจิตสำนึก คุณภาพนักการเมือง พรรคการเมือง ต้องดูจากฐานราก เพราะฐานรากคือประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ จากหมู่บ้านจนถึงจังหวัด เป็นการถ่วงดุลกับประชาธิปไตยแบบผู้แทน การกระจายอำนาจเป็นฐานของประชาธิปไตย
ข่าว:นภาพร แจ่มทับทิม
ด้านข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อสร้างประชาธิปไตยฐานรากของไทย ศ.ดร.บรรเจิด ระบุว่า
1.ปรับหมวด “กระจายอำนาจ” ในรัฐธรรมนูญจาก “การปกครองส่วนท้องถิ่น” เป็น “การบริหารท้องถิ่น”
2.เพิ่มมาตรการในการส่งเสริมสนับสนุนองค์กรชุมชน หรือองค์กรภาคประชาสังคมให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น
3.ให้องค์กรภาคีที่ทำงานสนับสนุนส่งเสริมภาคประชาสังคมในพื้นที่ กำหนดเป้าหมายร่วมกัน สร้างดาวดวงเดียวกัน
4.สร้างมาตรการและกลไกให้ราชการส่วนภูมิภาค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรชุมชน หรือภาคประชาสังคมในพื้นที่ สามารถบริหารงาน หรือดำเนินการในพื้นที่ได้กว้างขวางยิ่งขึ้น
5. การจัดตั้ง “สภาพลเมือง” ในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เกิดกลไกการขับเคลื่อนขบวนการภาคประชาสังคม จากการสนับสนุนของภาควิชาการ กลไกจากส่วนราชการ ผนึกกำลังเพื่อสร้างประชาธิปไตยฐานราก สนับสนุนให้พื้นที่สามารถจัดการตนเองได้
ในช่วงบ่าย มีการระดมความคิดเห็นภายใต้โจทย์ “แนวทางการขับเคลื่อนสู่เมืองธรรมเกษตร” ร่วมกันขบคิดถึงแนวทาง “เมืองธรรมเกษตร” วิธีการสร้างวิสัยทัศน์ร่วม การบูรณาการแผนระดับตำบล/จังหวัด และการสร้างพื้นที่กลาง มีข้อเสนอต่อทิศทางการดำเนินงานจังหวัดบูรณาการ ปี 2568 ที่น่าสนใจ คือ การสร้างกลไกความร่วมมือระหว่างชุมชน ภาคีหน่วยงานสนับสนุน (พอช. สช. สสส. สปสช. สถาบันพระปกเกล้า บพท. สถาบันวิชาการ กฎหมาย) และภาครัฐ , การออกแบบแนวทางการสนับสนุนพัฒนาไปสู่การจัดทำ One plan, แนวทางการทำงานร่วม “หุ้นส่วนการพัฒนา”, การจัดตั้งกองทุนกลางระดับจังหวัด ในการสนับสนุนการดำเนินงาน ฯลฯ
นายจารึก ไชยรักษ์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมเติมเต็มการแลกเปลี่ยน โดยชี้ให้เห็นถึงกรอบการดำเนินงานของ สช. ภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มีทิศทางที่สอดคล้องกับการสร้างประชาธิปไตยฐานรากของชุมชน โจทย์สำคัญคือภาคประชาสังคมจะขับเคลื่อนร่วมไปกับทีมวิชาการ ขยับไปกับภาคการเมือง และร่วมเดินหน้าไปพร้อมกับทุกภาคส่วนได้อย่างไร ในวันนี้ทุกภาคส่วนพร้อมหนุนเสริม ทั้งในเชิงกระบวนการและวิชาการ กระบวนการสมัชชาสุขภาพจะเข้าไปมีส่วนในการทบทวนวิสัยทัศน์ ปรับเปลี่ยนวิธีการ รวมถึงการทบทวนธรรมนูญประชาชนคนอำนาจเจริญ ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมของประชาชน โดยเน้นการสานพลังบูรณาการร่วมในระดับพื้นที่เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย รวมถึงการแก้ไขปัญหาสำคัญของจังหวัด
นายสามารถ สุขบรรจง หัวหน้าสำนักเลขานุการยุทธศาสตร์ชุมชนเข้มแข็ง พอช. กล่าวว่า ภายใต้โครงการวิจัยฯ ประชาธิปไตยอัตลักษณ์ไทย เข้ามาช่วยสนับสนุนให้แนวคิดต่างๆ ที่ทุกท่านรวมถกแถลง ร่วมคิดให้เป็นจริงได้ แม้ที่ผ่านมาอำนาจเจริญจะมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการ วีธีการขับเคลื่อนต่างๆ แต่เสียงอาจจะไม่ดังมากพอ จะทำอย่างไรการสนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นมีบทบาท มีความสามารถ และมีสถานะในการจัดการตนเองที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยแนวทางการสนับสนุนจังหวัดบูรณาการสู่จังหวัดจัดการตนเอง ของ พอช. ปี 2568 จะเน้นจังหวัดเป้าหมาย 13 จังหวัด ในอีสาน จังหวัดอำนาจเจริญและหนองคาย จะเป็นต้นแบบที่มีการเชื่อมโยงร่วมระหว่างหน่วยงานที่เข้มข้นมากขึ้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายจังหวัดจัดการตนเองที่เป็นต้นแบบของประเทศได้
ข้อมูลจาก #สชdailynews
แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับ " หนุนเสริม “ประชาธิปไตยฐานราก” สู่การขับเคลื่อนจังหวัดบูรณาการ “อำนาจเจริญเมืองธรรมเกษตร“ "