“ขยับขับเคลื่อนเพื่อสังคมไทยไร้บุหรี่ไฟฟ้า”
12 กันยายน 2567 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “การทำแผนขับเคลื่อนประเด็นการปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า” โดยมีวัตถุประสงค์ 1. เพื่อให้มติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นเกิดการดำเนินงานและมีผลสำเร็จตามข้อมติต่างๆ บนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน 2. เพื่อร่วมกันระดมความเห็นและพิจารณากำหนดแนวทางการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นการปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้าร่วมกัน
ผู้เข้าร่วมประกอบด้วยคณะกรรมการพัฒนานโยบายสาธารณะประเด็นการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนกว่า 80 ท่าน อาทิ ศ.นพ. ประกิต วาทีสาธกกิจ นพ. วันชาติ ศุภจัตุรัส ผศ.ดร. ลักขณา เติมศิริกุลชัย ฯลฯ หน่วยงานที่เข้าร่วม อาทิ กรมควบคุมโรค สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร กระทรวงศึกษาธิการ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักอนามัย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นต้น
กล่าวเปิดการประชุม โดยนายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ปัญหานี้ได้ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นในสังคม “หากต้องการเห็นอนาคตเยาวชนเป็นอย่างไรให้ใส่สิ่งนั้นเข้าไปในหลักสูตร” หากต้องการให้เกิดการปกป้องเด็กและเยาวชนเป็นอย่างไรให้ใส่สิ่งนั้นเข้าไปในแผนงาน
และครั้งนี้ชี้แจงวัตถุประสงค์โดย ผศ.ดร.ลักขณา เติมศิริกุลชัย รองประธานคณะกรรมการพัฒนานโยบายสาธารณะประเด็นการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า กล่าวตอนหนึ่งว่า ประทับใจการทำงานของ สช. พวกเราได้กำหนดนโยบายขึ้นมาจากพวกเราทุกคนและนำข้อเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ อยู่ระหว่างเสนอเข้ามติคณะรัฐมนตรี การประชุมครั้งนี้เพื่อให้เกิดการนำข้อเสนอลงสู่การปฏิบัติจริงได้
ทั้งนี้มีการเกริ่นนำที่มาที่ไป “ทำไมจึงต้องปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า” โดย ศ.พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ ประธานคณะกรรมการพัฒนานโยบายสาธารณะประเด็นการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า
นำเสนอผลการทำงานที่ผ่านมาที่สอดคล้องกับประเด็นการปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า โดยผู้แทนหน่วยงาน ได้แก่ สสส. กรมควบคุมโรค พศย. กระทรวงดิจิทัลฯ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและชี้แจงกระบวนการจัดสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นที่ผ่านมาโดย นายสมเกียรติ พิทักษ์กมลพร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะระดับชาติ หลังจากนั้นมีการแบ่งกลุ่มย่อยตามข้อเสนอประเด็นการปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้าจำนวน 5 กลุ่ม ได้แก่ 1. การสื่อสารสร้างความตระหนักรู้ถึงภยันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า 2. เฝ้าระวังการกำกับสื่อและการเป็นแบบอย่างที่ดีในการไม่สูบบุหรี่ไฟฟ้า 3. การบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพและจริงจัง 4. การมีส่วนร่วมของหน่วยงานภาครัฐ ภาคสังคม และภาควิชาการที่เกี่ยวข้องกับกลไกในระดับชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วมและสนับสนุนการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้า 5. คงไว้ซึ่งนโยบายห้ามนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าและการป้องกันการแทรกแซงนโยบายด้านยาสูบ และมีผู้แทนนำเสนอในแต่ละกลุ่ม รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นช่วงท้ายเพื่อเติมเต็มข้อเสนอร่วมกัน
แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับ " “ขยับขับเคลื่อนเพื่อสังคมไทยไร้บุหรี่ไฟฟ้า” "