“เวที HIA FORUM ถกปัญหา ‘กากอุตสาหกรรม’หวัง กม.เปิดเผยข้อมูล ‘PRTR’ จุดเปลี่ยนแก้ปัญหา
หนุนเสริม ‘CHIA’ ช่วยชุมชนรับมืออันตราย”
เปิดวงเสวนาการจัดการกากอุตสาหกรรมด้วยกลไก CHIA บนเวที “HIA Forum 2567” วงถกหวังเกิดกฎหมายเปิดเผยข้อมูลสารพิษ “PRTR” ช่วยแก้ไขปัญหามลพิษปนเปื้อนจากการลักลอบทิ้งกากอันตรายทั่วประเทศ พร้อมหนุนเสริมกระบวนการเรียนรู้-เฝ้าระวัง ผ่านการประเมินผลกระทบทางสุขภาพระดับชุมชน สร้างองค์ความรู้ มองทางเลือกการพัฒนา
เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2567 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พร้อมด้วย กรมอนามัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหน่วยงานภาคีเครือข่าย ร่วมกันจัดเสวนาหัวข้อ “การจัดการกากอุตสาหกรรมด้วยกลไก CHIA โดยการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นและชุมชน” ภายในกิจกรรมการประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA FORUM) ประจำปี 2567 “เมืองสุขภาพดี ชีวีมีสุข ด้วย HIA” เพื่อนำเสนอ แลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์การทำงาน ที่เกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้เครื่องมือประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) และการประเมินผลกระทบทางสุขภาพระดับชุมชน (CHIA) ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550
น.ส.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ เปิดเผยว่า จากบทเรียนในการติดตามปัญหามลพิษอุตสาหกรรมเป็นเวลากว่า 20 ปี พบว่าปัญหาเรื่องของกากอุตสาหกรรมอันตราย ถือเป็นปัญหาสำคัญที่ใหญ่และสร้างผลกระทบเป็นอย่างมาก แต่อาจยังไม่ได้รับความสนใจมากนักในช่วงที่ผ่านมา ทว่าในปัจจุบันพัฒนาการของปัญหากลับยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จากการกระทำผิดโดยทั่วไป กลายมาเป็นรูปแบบของเครือข่ายการก่ออาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อมที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
น.ส.เพ็ญโฉม กล่าวว่า สำหรับกากอุตสาหกรรมอันตราย คือของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมที่จะมีการปนเปื้อนมลพิษสารเคมี ซึ่งมีความอันตรายทั้งต่อคนและสิ่งแวดล้อม จึงต้องมีวิธีการจัดการที่ถูกต้องและเหมาะสม แต่หากดูสถานการณ์การลักลอบทิ้ง จากการรวบรวมข้อมูลสถิติในช่วงปี 2560-2566 เฉพาะกรณีที่เป็นข่าว พบว่ามีมากกว่า 300 กรณีที่เกิดขึ้นกระจายในทั่วประเทศ ซึ่งหลายกรณีได้เกิดการปนเปื้อนของสารพิษสู่สิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้าง ที่หากประเมินแล้วคาดว่าต้องใช้งบประมาณตั้งแต่หลักพันล้านไปจนถึงหมื่นล้านบาท ในการฟื้นฟูเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น
“กากอุตสาหกรรมอันตรายเหล่านี้มีทั้งส่วนที่ถูกเผา ถูกฝังลงใต้ดิน ถูกเททิ้งลงแหล่งน้ำ สร้างความเสียหายรุนแรงจากการปนเปื้อนไปถึงระดับชั้นน้ำใต้ดิน ซึ่งเป็นจุดยากที่สุดในการที่จะแก้ไข แม้ว่าจะสามารถฟ้องร้องจนศาลตัดสินให้บริษัทต้องจ่ายฟื้นฟูเยียวยา แต่ไม่ว่าผู้ชนะคดีจะเป็นชาวบ้านหรือหน่วยงานรัฐก็ตาม กลับแทบจะไม่เคยได้รับเงินจากผู้กระทำผิดเลย เพราะบริษัทแจ้งล้มละลาย นี่เป็นปัญหาช่องโหว่ที่ใหญ่และจำเป็นจะต้องได้รับการแก้ไขในระดับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง” น.ส.เพ็ญโฉม กล่าว
น.ส.เพ็ญโฉม กล่าวว่า เพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว จึงมีความพยายามในการเสนอให้มีการปรับปรุงกฎหมายต่างๆ เพื่อแก้ช่องโหว่ของปัญหา ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.โรงงาน, พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มโทษและเพิ่มอำนาจให้กับหน่วยงาน รวมถึงการผลักดันกฎหมายอย่าง พ.ร.บ.การรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ หรือ กฎหมาย PRTR ให้เกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นการทำให้แหล่งกำเนิดมลพิษโดยเฉพาะโรงงานขนาดใหญ่ หรือโรงงานที่ก่อให้เกิดของเสียอันตราย จะต้องรายงานข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับสารมลพิษที่ใช้ และเปิดเผยต่อสาธารณะให้ทุกคนเข้าถึงได้
น.ส.เพ็ญโฉม กล่าวอีกว่า ความสำคัญของกฎหมายดังกล่าวจะทำให้เกิดฐานข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการเฝ้าระวังของประชาชนในพื้นที่ ช่วยสร้างความเข้มแข็งให้ประชาชนสามารถเฝ้าระวัง ร่วมปกป้องสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของตนเองได้ ควบคู่กับการเสริมทักษะความรู้ หนุนเสริมวิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง หรือกระบวนการประเมินผลกระทบทางสุขภาพระดับชุมชน (CHIA) ที่จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเสริมศักยภาพชุมชนท้องถิ่น ให้เขาเกิดความอุ่นใจในการมีเครื่องมือ ความรู้ หรือที่ปรึกษา ที่จะสามารถตอบสนองหรือรู้เท่าทันกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้
ขณะที่ รศ.ดร.โกวิท สุวรรณหงษ์ รองคณบดีฝ่ายบริการวิชาการและนวัตกรรม คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า กากอุตสาหกรรมอันตรายสามารถกลายเป็นสารเคมีที่มีพิษได้ใน 3 ทาง ทั้งรูปแบบของแข็งคือกากของเสีย ของเหลวที่กลายเป็นน้ำเสีย หรือก๊าซที่กลายเป็นอากาศเสีย ซึ่งผลกระทบจะส่งตรงไปสู่สภาพแวดล้อม จากนั้นจึงไปสู่ระบบนิเวศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ แล้วจึงตามมาสู่ผลกระทบต่อสุขภาพของคน ที่ซึมซับพิษเหล่านี้ได้ใน 2 แบบ คือได้รับน้อยๆ เป็นเวลานาน กับแบบที่ได้รับปริมาณมากในระยะเวลาสั้น
รศ.ดร.โกวิท กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาจำเป็นจะถูกแก้แบบเป็นองค์รวม โดยเฉพาะความสำคัญของนโยบาย มาตรการ รวมถึงกฎหมายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการให้ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้รับผิดชอบในการดูแลตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง หรือกฎหมาย PRTR ที่จะทำให้เกิดระบบการเปิดเผยข้อมูล ที่สามารถนำไปบูรณาการและประยุกต์ใช้กับเครื่องมือการประเมินผลกระทบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น HIA หรือ CHIA อันเป็นเครื่องมือสร้างการมีส่วนร่วม สร้างความตระหนัก รับรู้ ช่วยให้เกิดการมองตั้งแต่มิติเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ไปจนถึงสุขภาพได้
“ในระหว่างที่การปรับปรุงกฎหมายอาจเดินหน้าไปได้ช้า สิ่งที่ชุมชนจะช่วยตัวเองได้ก่อนคือการสร้างความรู้ ความตระหนักรู้ หรือ Health Literacy ที่จะเรียนรู้ว่าปัจจัยอะไรส่งผลกระทบกับสุขภาพของเราได้บ้าง หรือที่เรียกว่า Social Determinants of Health ซึ่งเครื่องมืออย่าง CHIA ก็จะมีส่วนช่วยได้ และเราต้องช่วยกันทำให้เกิดความเข้มแข็งกันมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยหากมีหัวใจสำคัญคือเรื่องของระบบข้อมูลเข้ามาเชื่อมโยงประกอบก็เชื่อว่าในอนาคตน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น” รศ.ดร.โกวิท กล่าว
ด้าน ดร.วิสาข์ สุพรรณไพบูลย์ คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า สถานการณ์กากอุตสาหกรรมอันตรายนั้นมีความรุนแรงเป็นอย่างมาก เป็นปัญหาที่นอกจากจะต้องใช้เงินฟื้นฟูเยียวยาที่สูงมากในด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีมิติของสุขภาพที่ก่อให้เกิดโรคภัยที่สำคัญอย่างมะเร็ง ซึ่งเราจะเห็นผู้คนป่วยเป็นมะเร็งกันมากขึ้นก็เนื่องมาจากปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี ซึ่งแน่นอนว่าเราไม่สามารถปฏิเสธการพัฒนาอุตสาหกรรมได้ แต่โจทย์คือการกำหนดทิศทางว่าประเทศไทยจะเดินหน้าอุตสาหกรรมอย่างไรให้มีความเหมาะสมและปลอดภัย เช่น อุตสาหกรรมการผลิตอาหาร เป็นต้น
ดร.วิสาข์ กล่าวว่า สิ่งที่เราได้เห็นจากปัญหามลพิษที่เกิดการปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม คือการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมถึงเกิดความล่าช้าของการแก้ไขปัญหา ซึ่งเราคงไม่สามารถไปโทษโครงการพัฒนาต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาตามกระแสได้ แต่เราอาจต้องฉุกคิดถึงทิศทางการพัฒนาที่รอบคอบมากขึ้น ว่าจะทำให้เกิดความสมดุลมากขึ้นได้อย่างไร โดยการทำให้ชุมชนมีบทบาท และนับเอาศักยภาพต้นทุนมนุษย์ หรือต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมมาคิดรวมด้วย เพื่อให้มองการพัฒนาที่ยั่งยืน และชุมชนมีโอกาสเลือกแนวทางพัฒนาของตัวเอง
“CHIA จึงเป็นกระบวนการที่เราอยากเห็นเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ร่วมกันของชุมชนและสังคม เพราะเป็นหัวใจสำคัญในการที่จะดึงเอาชุมชนเข้ามา ทำให้ได้รับรู้ข้อมูลที่สำคัญ และทำให้ชุมชนสามารถร่วมตัดสินใจได้ รวมถึงสามารถเฝ้าระวังปัญหาและนำไปสู่ทิศทางของการแก้ไขและพัฒนาร่วมกันต่อไปในอนาคต” ดร.วิสาข์ กล่าว
/////////////////////////////
แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับ " HIA FORUM ถกปัญหา ‘กากอุตสาหกรรม’ หวัง กม.เปิดเผยข้อมูล ‘PRTR’ จุดเปลี่ยนแก้ปัญหา หนุนเสริม ‘CHIA’ ช่วยชุมชนรับมืออันตราย” "