http://www.wannewsonline.com/

วันอังคารที่ 24 ธันวาคม 2024
ข่าวทั่วไปวาไรตี้

สช.-ภาคี’ ผลักดัน ‘HIA’ สู่ระดับท้องถิ่น หนุน ‘อปท.’ ใช้เป็นเครื่องมือ รองรับกระจายอำนาจ-ถ่ายโอน รพ.สต.

15 ส.ค. 67  เริ่มแล้ว! เวที HIA Forum ประจำปี 2567 พื้นที่กลางแลกเปลี่ยนเรียนรู้การใช้เครื่องมือประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ สู่กระบวนการการมีส่วนร่วมในการพัฒนา-แก้ไขปัญหาชุมชน “นพ.ชูชัย” ชี้ 3 เทรนด์การพัฒนาโลก พร้อมผลักดัน HIA สู่การพัฒนานโยบายของ อปท. ขณะที่ “เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ” เดินหน้าสานพลังทำงานร่วมกับท้องถิ่น หวังเป็นเครื่องมือสนับสนุนพื้นที่ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พร้อมด้วย กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และหน่วยงานภาคีเครือข่าย ร่วมจัดการประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA FORUM) ประจำปี 2567 “เมืองสุขภาพดี ชีวีมีสุข ด้วย HIA” ระหว่างวันที่ 15-16 สิงหาคม พ.ศ. 2567 ณ โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว จ.เชียงใหม่ เพื่อเป็นพื้นที่กลางในการถ่ายทอดองค์ความรู้ นวัตกรรม เกี่ยวกับการใช้เครื่องมือเพื่อประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550

นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ประธานกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA Commission) เป็นประธานเปิดงาน และปาฐกถาพิเศษ ตอนหนึ่งว่า พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ให้สิทธิขั้นพื้นฐานแก่ประชาชนทุกคนให้ได้รับการคุ้มครองดูแลเพื่อให้เกิดสุขภาพดี มีสิทธิในการดำรงอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ครอบคลุมถึงความเป็นธรรมทางสังคม การเข้าถึงโอกาสด้านต่างๆ และยังให้ความสำคัญกับการพัฒนานโยบายสาธารณะโดยใช้ข้อมูล องค์ความรู้ และกระบวนการมีส่วนร่วม ผ่านเครื่องมือสำคัญคือ “การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ” หรือ HIA ที่จะชวนปกป้องคุ้มครองสุขภาพคนในชุมชนจากการดำเนินกิจกรรม หรือโครงการ ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบกับสุขภาพ

นพ.ชูชัย กล่าวว่า การพัฒนาที่ขาดดุลยภาพ ไม่ว่าในเชิงเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม จิตใจ รวมไปถึงทรัพยากร นำมาสู่เทรนด์หรือแนวโน้มการพัฒนาของโลกในปัจจุบัน 3 ประเด็นสำคัญ คือ 1. ธุรกิจกับความรับผิดชอบต่อสังคม คือการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของภาคเอกชน ที่นอกจากจะคำนึงถึงการเติบโตและผลกำไรแล้ว ยังต้องมีส่วนในการดูแลธรรมาภิบาลด้านต่างๆ 2. การกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปสู่ท้องถิ่นและชุมชน 3. การสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในสังคม
นพ.ชูชัย กล่าวอีกว่า ปัจจุบันยุทธศาสตร์สำคัญในการผลักดันให้ HIA เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ชุมชนสามารถเข้าถึงสิทธิตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ได้ คือการมุ่งไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยทาง สช. และเครือข่ายวิชาการ ได้ร่วมกันเข้าไปพัฒนาและสนับสนุนการทำงานร่วมกับทางองค์การบริหารจังหวัด (อบจ.) เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อให้นำ HIA ไปใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนานโยบายสาธารณะ ที่สอดคล้องกับความแตกต่างหลากหลายตามบริบทของพื้นที่ ซึ่งมีทั้งประเด็นด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัย สังคมและคุณภาพชีวิต รวมถึงประเด็นด้านการจัดระบบบริการสุขภาพ
“เรามีตัวอย่างที่น่าสนใจจากการใช้เครื่องมือ HIA หลายกรณี ไม่ว่าจะเป็นกับการจัดการขยะ น้ำเสีย อาหาร โรคภัย การดูแลผู้สูงอายุ การท่องเที่ยว ไปจนถึงการจัดระบบบริการสุขภาพภายใต้การถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปสังกัด อบจ. เกิดให้เห็นรูปธรรมของบางพื้นที่ ที่นำ HIA ไปใช้สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน ช่วยให้ท้องถิ่นสามารถขับเคลื่อนงานตามบทบาทภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับทิศทางของแนวคิดทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ (HiAP) การพัฒนาเมืองสุขภาพดี ทั้งยังส่งเสริมบทบาทของท้องถิ่นในการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิแบบเชิงรุกได้เป็นอย่างดี” นพ.ชูชัย กล่าว

ด้าน นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 17 ปี ของการขับเคลื่อนตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 สิ่งสำคัญคือการใช้องค์ความรู้ทางวิชาการ ควบคู่ไปกับการสร้างเครือข่ายการทำงาน ซึ่ง HIA ก็เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ได้มีการพัฒนาและเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง โดยที่มีเป้าหมายเพื่อเป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของสังคม ในการประเมินหรือคาดการณ์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากทั้งนโยบาย โครงการ หรือกิจกรรม รวมทั้งสร้างทางเลือกในการลดผลกระทบทางลบ เพิ่มผลกระทบทางบวก อันจะนำไปสู่การตัดสินใจที่เป็นผลดีต่อสุขภาวะของผู้คนและสังคมในระยะยาว

นพ.สุเทพ กล่าวว่า ต่อไปในอนาคตข้างหน้า อปท. จะต้องเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในทุกๆ เรื่อง จากเดิมที่อาจไปเน้นในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน แต่ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าต้องเข้ามาดูแลในมิติอื่นๆ ทั้งการศึกษา สุขภาพ สิ่งแวดล้อม ฯลฯ มากขึ้น ตัวอย่างเช่นทิศทางการกระจายอำนาจ การถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ที่กำลังดำเนินการกันอยู่ในขณะนี้ ซึ่ง HIA ก็จะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้การดำเนินงานต่างๆ เกิดความยั่งยืนได้
“ทิศทางของการขับเคลื่อน HIA ในปัจจุบัน เราจึงมุ่งเข้าไปทำงานร่วมกับท้องถิ่นมากขึ้น เพราะนี่เป็นเครื่องมือสร้างการมีส่วนร่วมให้คนได้เข้ามาพูดคุยกัน ซึ่งจะช่วยให้การดำเนินงานหรือนโยบายต่างๆ ของท้องถิ่นเกิดความยั่งยืนได้ เพราะถ้าหากขาดการมีส่วนร่วม เมื่อดำเนินไปแล้วมีผู้ได้รับผลกระทบ เกิดเสียงคัดค้าน ก็จะกลายเป็นปัญหาที่ตามมา แต่หากท้องถิ่นใช้คุณค่าและวิธีการของ HIA ในการให้คนเข้ามามีส่วนร่วม ก็จะช่วยให้เกิดการมองที่รอบด้านและพัฒนาไปได้อย่างยั่งยืน” นพ.สุเทพ กล่าว

สำหรับการประชุม HIA FORUM ประจำปี 2567 มีผู้เข้าร่วมกว่า 400 ราย โดยภายในงานมีเวทีเสวนาวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้เครื่องมือ HIA และการประเมินผลกระทบทางสุขภาพระดับชุมชน (CHIA) ตลอดจนบทเรียนแนวทางการเฝ้าระวัง รวมถึงแก้ไขปัญหาผลกระทบทางสุขภาพหลากหลายประเด็น อาทิ การทำ HIA ประเด็นนโยบายสาธารณะระดับต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสาธารณสุข การปกครอง ธรรมนูญชุมชน, การทำ HIA ในประเด็นสิ่งแวดล้อม เช่น มลพิษทางอากาศ มลพิษทางน้ำ ขยะอุตสาหกรรม, การทำ HIA ในประเด็นการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ การพัฒนาชุมชน และการประยุกต์ใช้ HIA การพัฒนาเครื่องมือ และยังมีบูธนิทรรศการจากภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องมากมาย

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับ " สช.-ภาคี’ ผลักดัน ‘HIA’ สู่ระดับท้องถิ่น หนุน ‘อปท.’ ใช้เป็นเครื่องมือ รองรับกระจายอำนาจ-ถ่ายโอน รพ.สต. "

ข่าวทั่วไปวาไรตี้ ล่าสุด

เหล่ากาชาดจังหวัดเพชรบูรณ์ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ผู้ยากไร้ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราธิดา

เหล่ากาชาดจังหวัดเพชรบูรณ์ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ผู้ยากไร้ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราธิดา

อัพเดทล่าสุด

เหล่ากาชาดจังหวัดเพชรบูรณ์ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ผู้ยากไร้ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราธิดา

เหล่ากาชาดจังหวัดเพชรบูรณ์ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ผู้ยากไร้ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราธิดา

3 ธันวาคม 2024