สช.จับมือภาคีเครือข่ายร่วมเคาะมติสมัชชาสุขภาพ “การสานพลังสร้างสภาวะแวดล้อมทางกายภาพและสังคมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ” หรือ “โรค NCDs” หวังแก้วิกฤตด้านสุขภาพที่คร่าชีวิตคนไทยปีละ 4 แสนราย ผ่านการสร้างสภาวะแวดล้อมทางกายภาพและสังคมเพื่อลดปัจจัยเสี่ยง-สร้างพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม โดยนำหลักการทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม-เครดิตทางสังคม-การคลังสร้างแรงจูงใจ มาใช้สร้างมาตรการ ด้านตัวแทนภาคส่วนต่างๆ ร่วมให้ถ้อยแถลงสนับสนุนการขับเคลื่อน เตรียมเสนอเข้า คสช. 19 ส.ค.นี้
เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2567 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พร้อมด้วย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยกรมควบคุมโรค สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) และภาคีเครือข่าย ร่วมกันจัดเวที สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ว่าด้วยการสานพลังสร้างสภาวะแวดล้อมทางกายภาพและสังคมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ มีตัวแทนภาคีองค์กรกว่า 200 ราย เข้าร่วมประชุมผ่านช่องทาง Onsite และ Online ได้ร่วมกันรับรองมติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นดังกล่าวอย่างเป็นฉันทมติ พร้อมกล่าวถ้อยแถลงเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะในประเด็นดังกล่าวด้วยกัน
สำหรับกรอบทิศทางนโยบาย (Policy Statement) ในมติสมัชชาสุขภาพฯ ประเด็นนี้ มีสาระสำคัญ
ให้ทุกภาคส่วนร่วมเป็นหุ้นส่วนและเครือข่ายในการสร้างสภาวะแวดล้อมทางกายภาพและสังคม ที่เอื้อต่อการลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ ควบคู่กับการมีพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม ทั้งการบริโภคอาหาร การออกกำลังกาย ฯลฯ เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อ (NCDs) พร้อมใช้หลักการทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม กลไกเครดิตทางสังคม และกลไกการคลังสร้างแรงจูงใจ
เข้ามาร่วมสนับสนุน
นพ.โสภณ เมฆธน ประธานคณะกรรมการพัฒนานโยบายสาธารณะว่าด้วยการสานพลังสร้างสภาวะแวดล้อมทางกายภาพและสังคมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ เปิดเผยว่า สิ่งที่ต้องยอมรับคือ โรค NCDs เป็นปัญหาวิกฤตทางสุขภาพทั้งไทยและทั่วโลก ที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับหนึ่ง ซึ่งในประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 4 แสนรายต่อปี ทั้งยังก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่าสูงถึงปีละ 1.6 ล้านล้านบาท แม้ว่าที่ผ่านมาเราจะมีนโยบาย กฎหมาย ยุทธศาสตร์ รวมถึงแผนการและโครงการต่างๆ อีกมากมาย แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้อัตราการป่วยและเสียชีวิตจากโรค NCDs ลดลงได้
นพ.โสภณ กล่าวว่า ขณะเดียวกันด้วยสภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคม ยังส่งผลให้สภาวะแวดล้อมและวิถีชีวิตของผู้คนเกิดความเสี่ยงต่อการเป็นโรค NCDs มากขึ้นไปอีก ดังนั้นมติสมัชชาสุขภาพฯ ที่ภาคีเครือข่ายให้ฉันทมติรับรองร่วมกันในครั้งนี้ จึงเป็นกรอบทิศทางนโยบายสำคัญที่จะสานพลังสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ให้เข้ามาร่วมกันสร้างสภาวะแวดล้อมทางกายภาพและสังคมที่เอื้อต่อการลดโรค NCDs รวมถึงมีการนำหลักการอื่นๆ อย่างเช่น เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม มาใช้เป็นมาตรการในการกระตุ้นหรือชี้นําให้ผู้คนมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดีกว่าเดิม เป็นต้น
ทั้งนี้ ภายในเวทีการประชุมดังกล่าวพบว่า ตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และที่เกี่ยวข้องที่ร่วมให้ความเห็นในครั้งนี้ทั้งหมด ล้วนให้การสนับสนุนมติสมัชชาสุขภาพฯ โดยยังได้มีการนำเสนอถึงความก้าวหน้าการขับเคลื่อนของภาคส่วนต่างๆ ที่มีการดำเนินงานอยู่ทั้งในระดับประเทศไปจนถึงในระดับพื้นที่ พร้อมให้ข้อเสนอถึงประเด็นเพื่อพิจารณา เช่น นอกจากมองถึงปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ (SDH) ยังต้องมีการมองไปถึงปัจจัยการค้า และปัจจัยทางกฎหมายที่มีส่วนกำหนดสุขภาพด้วย
พร้อมกันนี้ ยังมีการให้ข้อเสนอเพิ่มเติมต่อมติสมัชชาสุขภาพฯ เช่น เพิ่มการมุ่งเน้นไปที่การจัดการกับปัญหามลพิษ การตลาดสินค้าออนไลน์ การจำหน่ายอาหารบริเวณรอบโรงเรียน ไปจนถึงการกระตุ้นบทบาทของภาคการเมืองให้มีส่วนขับเคลื่อนผ่านกลไกนิติบัญญัติ ในการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปกป้องสุขภาพของประชาชน ตลอดจนเน้นบทบาทการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน ให้เข้ามาร่วมออกแบบนวัตกรรม ไปจนถึงการให้มีพื้นที่ Sandbox เพื่อนำร่องทดลองนโยบายก่อนที่จะขยายผลไปสู่ทั่วประเทศ เป็นต้น
นพ.ภานุมาศ ญาณเวทย์สกุล รองปลัด สธ. กล่าวว่า เป็นที่ทราบดีว่าโรค NCDs เป็นภัยคุกคามทางสุขภาพที่สำคัญ ซึ่งต้องมุ่งจัดการกับสภาวะแวดล้อมและพฤติกรรมส่วนบุคคล โดย รมว.สธ. เองมีการให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นความต้องการให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ผลักดันชุดความรู้เข้าไปถึงประชาชนอย่างต่อเนื่อง การเดินหน้าตาม พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 ตลอดจนส่งเสริมการใช้ยาไทย ยาสมุนไพร ก่อนไปหาหมอ เพื่อช่วยลดจำนวนผู้ป่วยที่เข้าสู่โรงพยาบาล เป็นต้น
“ที่ผ่านมาเราได้มีการผลักดัน มีตัวอย่างนวัตกรรมเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ในนามของ สธ. ขอสนับสนุนการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพฯ และยินดีเป็นเจ้าภาพหลักในการพัฒนาระบบและกลไกกำกับ ติดตามและประเมินผลลัพธ์ และยินดีที่จะประสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ในการพัฒนาระบบและกลไกหนุนเสริม ร่วมไปกับการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อของประเทศ เพื่อให้เกิดสภาวะแวดล้อมทางกายภาพและสังคมที่เอื้อต่อการลดโรค NCDs อย่างเป็นรูปธรรม” รองปลัด สธ. กล่าว
นายกิตติพงษ์ เกิดฤทธิ์ ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ในส่วนของ สถ. ซึ่งมีหน้าที่ในการส่งเสริมและสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้ง 7,848 แห่งทั่วประเทศ มีความยินดีที่จะร่วมสานพลังในการป้องกันโรค NCDs พร้อมสนับสนุนทั้งในส่วนกำลังคน สิ่งของ หรืองานทั้งปวง แต่ส่วนหนึ่งที่ต้องการคือ คู่มือที่จะสามารถนำมาใช้ในการแก้ปัญหา การสนับสนุนในเชิงขององค์ความรู้ต่างๆ เมื่อนโยบายเหล่านี้เดินหน้าลงไปสู่การปฏิบัติ
นายณัฐพล สุภาดุลย์ ผู้อำนวยการส่วนนโยบายภาษีสรรพสามิต สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง กล่าวว่า ภายใต้แผนปฏิบัติราชการของ สศค. ประจำปี 2567 ได้มียุทธศาสตร์ที่ระบุถึงประเด็นด้านสุขภาพเอาไว้ในกลยุทธ์การส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงและยั่งยืนผ่านเครื่องมือทางการเงินการคลังและความร่วมมือระหว่างประเทศ แนวทางการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเพื่อส่งเสริมสุขภาพที่ดีของประชาชน หรือส่งเสริมการรักษาสิ่งแวดล้อม หรือสะท้อนการใช้สินค้าที่ฟุ่มเฟือยและไม่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพ
“แนวทางดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสุขภาพที่ดีของประชาชน รวมถึงสร้างรายได้และลดค่าใช้จ่ายให้กับภาครัฐ ซึ่งการดำเนินงานนี้จะมีความสอดคล้องกับแนวทางการส่งเสริมการพัฒนามาตรการทางการเงินการคลัง หรือภาษีที่เกี่ยวข้องกับการลดปัจจัยเสี่ยงต่อโรค NCDs โดยมติสมัชชาสุขภาพฯ ครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดีของการดำเนินนโยบายด้านโรคไม่ติดต่อร่วมกัน ระหว่างภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อสร้างสุขภาพที่ดีของคนไทยได้อย่างทั่วถึง” นายณัฐพล กล่าว
นายชาตรี ศรีสันต์ ตัวแทนสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สมาคมฯ ในฐานะตัวแทนองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทั่วประเทศ ขอร่วมสนับสนุนการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพฯ เพราะเป็นที่ทราบดีถึงวิกฤตปัญหาความรุนแรงของโรค NCDs โดยจะกระตุ้นเตือนและผลักดันให้ อบจ. ทั้งหมดได้เข้าใจถึงกรอบกระบวนการทำงานที่เป็นระบบ ทั้งการทำงานป้องกันและควบคุมโรค สภาวะแวดล้อมทางกายภาพ สภาวะแวดล้อมทางสังคม ตลอดจนระบบนิเวศเพื่อลดโรค NCDs
“เราจะทำให้เกิดการร่วมกันทำงานอย่างจริงจัง เพราะโดยพื้นฐานทาง อบจ. สนใจในเรื่องงานดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชนอยู่แล้ว ผนวกกับที่มีการถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่จะเป็นพลังผลักดันทั้งในส่วนงานที่ อบจ. มีความชำนาญ กับงานของ รพ.สต. เข้ามากระตุ้นเร่งเร้าให้การทำงานด้านโรคไม่ติดต่อมีประสิทธิภาพสูงขึ้น” นายชาตรี กล่าว
ขณะที่เยาวชนตัวแทนจาก Young Health Programme องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ยังได้ร่วมสะท้อนถึงข้อเสนอของการณรงค์ห้ามขายขนมในโรงเรียน ซึ่งอาจเป็นการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงเกินไปหากจะให้เด็กเลิกทานขนมทันที โดยอาจเปลี่ยนเป็นจำกัดการขายในบางประเภทแทน ขณะที่การรณรงค์ให้เด็กรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ ก็อาจต้องเพิ่มความหลากหลายของเมนูให้มากขึ้น เพราะในบางโรงเรียนที่มีจำนวนเมนูไม่มากพอ ก็อาจทำให้เด็กอาจเลือกที่จะไม่ทาน แล้วกลายเป็นการขาดสารอาหารแทน
นอกจากนี้ ตัวแทนเยาวชนยังให้ข้อเสนอถึงการนำนวัตกรรมเข้ามาประยุกต์ใช้ เช่น บางโรงเรียนที่มีการจ่ายค่าอาหารโดยการสแกนบัตร ก็อาจพัฒนาระบบให้ผู้ปกครองสามารถติดตามได้ว่าบุตรหลานของตนทานอะไรไปบ้างที่โรงเรียน เพื่อนำไปสู่การตักเตือนให้ความรู้ได้ ตลอดจนอยากส่งเสริมให้เด็กสามารถเรียนกีฬาได้ฟรีในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน เพราะบางครอบครัวอาจไม่มีฐานะมากพอที่จะส่งบุตรหลานเข้าเรียน แม้ว่าอยากที่จะเรียนก็ตาม
ด้าน นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า มติสมัชชาสุขภาพฯ ที่ผ่านฉันทมติรับรองร่วมกันในครั้งนี้ ได้ดำเนินกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมมาเป็นเวลากว่า 9 เดือน ผ่านการจัดเวทีถกแถลง และรับฟังความคิดเห็นจากภาคีเครือข่ายภาคส่วนต่างๆ ไปแล้วในหลายเวที จนยกร่างออกมาเป็นมติดังกล่าว ซึ่งหลังจากนี้จะมีการนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุม คสช. ในวันที่ 19 ส.ค. 2567 ก่อนที่จะให้ความเห็นชอบเพื่อเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้มตินี้กลายเป็นทิศทางและมาตรการสำคัญในการรับมือกับโรค NCDs ที่เป็นปัญหาสำคัญของประเทศได้ต่อไป
แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับ " สมัชชาสุขภาพฯ 200 องค์กรมีฉันทมติ มุ่งสร้างสภาวะแวดล้อมทางกายภาพและสังคมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ หวังคนไทยตายน้อยลง มีคุณภาพชีวิตดี "