สช. จับมือ มหาดไทย พัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม
ผลักดันการขับเคลื่อนเมืองสุขภาวะ และนวัตกรรมการลดอุบัติเหตุ ในพื้นที่เขตเมือง
วันจันทร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2568 เวลา 09.00 – 16.00 น. ณ ห้องแกรนด์ AB ชั้น 4 โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น หลักสี่ กรุงเทพมหานคร สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) คณะกรรมการศึกษาแนวทางความปลอดภัย ป้องกัน และลดอุบัติเหตุบนท้องถนนอย่างยั่งยืน (คศป.) ร่วมกับ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย จัดสมัชชาสุขภาพสันนิบาตเทศบาล ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2568 ว่าด้วย “การขับเคลื่อนเมืองสุขภาวะ และ นวัตกรรมการลดอุบัติเหตุ” โดยมีผผู้เข้าร่วมกว่า 600 คน ประกอบด้วย นายกเทศมนตรี ปลัดเทศบาล เทศบาลเมือง เทศบาลนคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม และพัฒนากลไกการเสริมสร้างสุขภาวะเขตเมือง และผลักดันการใช้มาตรการ และนวัตกรรมการลดอุบัติเหตุในพื้นที่เขตเมือง เทศบาลเมือง เทศบาลนคร
นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ โดยกระทรวงมหาดไทย มีเป้าหมายสำคัญคือ การบำบัดทุกข์ บำรุงสุข คือการทำคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นใน 3 ด้าน ได้แก่ คุณภาพชีวิตด้านความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ และความสะดวกสบาย ในแง่ของการดำเนินงานด้านสุขภาพ สุขภาวะ กระทรวงมหาดไทย ได้บูรณาการร่วมกับภาคีด้านสุขภาพและสาธารณสุขมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการออกกำลังกาย การรณรงค์ตรวจสุขภาพ การดูแลศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก การดูแลด้านจิตใจและสังคม ตลอดจนการดูแลผู้ยากไร้และคนยากจน ซึ่งขณะนี้เมื่อโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ถ่ายโอนมาอยู่กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภารกิจเหล่านี้จึงชัดเจนมากยิ่งขึ้น ตลอดจนประเด็น นวัตกรรมการลดอุบัติเหตุ เป็นเรื่องหนึ่งที่ไม่ใช่หน้าที่ใครคนใดคนหนึ่ง หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งที่ต้องตระหนักรู้ และร่วมขับเคลื่อน เป็นเรื่องของทุกคนที่ต้องหาวิธีการพัฒนานวัตกรรมในการควบคุมความเสี่ยง ลดปัจจัยการเกิดซ้ำ และกำหนดมาตรการการดูแลผู้บาดเจ็บให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีความสำคัญอย่างยิ่งในการออกแบบเมือง การติดตั้งป้ายสัญญาณจราจร หรือการให้ความรู้พื้นฐานแก่พี่น้องประชาชน ให้มีความระมัดระวัง ทั้งต่อชีวิตตนเองและผู้อื่น
นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการส่งเสริมความปลอดภัย ป้องกัน และลดอุบัติเหตุบนท้องถนนอย่างยั่งยืน (คศป.) กล่าวรายงาน จากการทำงานที่ผ่านมาได้มีการรวบรวมความคิดเห็นและสรุปเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย เสนอต่อคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี เพื่อเป็นข้อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติ นำเสนอต่อรัฐบาลต่อไป โดยมีการกำหนดหัวข้อรับฟังความคิดเห็น
5 ข้อ ดังนี้ 1. การบังคับการใช้กฎหมาย ระเบียบวินัยจราจร และบทลงโทษ
2. การจัดหางบประมาณในการดูแลซ่อมบำรุงถนน ป้ายจราจร และสัญญาณจราจร ให้ได้มาตรฐาน
3. การส่งเสริมการเรียนการสอนเรื่องการให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายระเบียบจราจร การใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย 4. การดูแลผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ ผู้ป่วย ผู้พิการหลังเกิดอุบัติเหตุจราจร ฟื้นฟูให้ผู้ประสบเหตุกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ 5. การจัดตั้งองค์กร หรือ ศูนย์ในการบริหารจัดการการป้องกันการดูแลฟื้นฟูผู้บาดเจ็บ และ การใช้นวัตกรรม AI เข้ามาสนับสนุน เพื่อความปลอดภัยอย่างยั่งยืน
ตลอดจน ได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการเพิ่มเติม อีก 1 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการด้านการส่งเสริมความปลอดภัย สร้างวินัยในการขับขี่ เพื่อบูรณาการความร่วมมือการบังคับใช้กฎหมายจราจร มาตรฐานความปลอดภัย ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการบริหารจัดการงานจราจร ตลอดจนส่งเสริมการฟื้นฟูผู้ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรทั้งทางร่างกาย และจิตใจ กับกองบังคับการตำรวจนครบาล 3 ในการจัดทำเซฟตี้โซน จำนวน 13 สถานี รวม 4 เขตการปกครอง ได้แก่ เขตมีนบุรี คลองสามวา ลาดกระบัง และหนอกจอก เพื่อจัดอบรมหลักสูตร “วัคซีนจราจร” พร้อมทั้งมอบหมวกนิรภัยซึ่งได้ขออนุญาตใช้ตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ แล้วนั้น เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลและสร้างความตระหนักในการขับขี่ปลอดภัยสร้างวินัยจราจร ซึ่งเวทีสมัชชาสุขภาพสันนิบาตเทศบาล ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2568 ว่าด้วย “การขับเคลื่อนเมืองสุขภาวะ และ นวัตกรรมการลดอุบัติเหตุ” ในครั้งนี้ จะได้รับความเห็นที่หลากหลาย และเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนเมืองสุขภาวะเพื่อพัฒนาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายสู่การปฏิบัติต่อไป
นายศิริพันธ์ ศรีกงพลี รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ในประเด็น “ทิศทางการขับเคลื่อนสุขภาวะท้องถิ่น” กล่าวว่า การสานพลังขับเคลื่อนเมืองสุขภาวะ เป็นเรื่องพื้นฐานสำคัญของพี่น้องประชาชน ทั้งเรื่องสุขภาพพลานามัย ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เศรษฐกิจและความเป็นอยู่ โดยเราควรมีการสานพลังลงมือทำร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มีมรรคมีผลในทางปฏิบัติมากกว่าเชิงสัญลักษณ์ สามารถประสบความสำเร็จลุล่วง เกิดประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนต่อไปได้ และเรื่อง นวัตกรรมการลดอุบัติเหตุ เป็นงานที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับ คณะกรรมการนโยบายการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ ซึ่งมี
ท่านอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน ได้เน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด และเจ้าหน้าที่ ที่รับผิดชอบด้านความปลอดภัยทุกหน่วยงานได้เร่งวางแผนการดำเนินงานรองรับสถานการณ์การเดินทางของพี่น้องประชาชนซึ่งจะมีปริมาณการใช้รถใช้ถนนปริมาณที่สูงมาก โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดยาว ทุกเทศกาล ด้วยการรณรงค์มาตรการ “ดื่มไม่ขับ” ถ้าดื่มต้องไม่ขับขี่ ไม่ใช่เมาไม่ขับ ให้เต็มที่ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุทางท้องถนน โดยหากในพื้นที่มีการจำหน่ายสุรา เครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่ผู้ที่อายุไม่ถึงเกณฑ์ตามกฎหมาย ให้ทุกจังหวัด/อำเภอขยายผลการสอบสวนดำเนินคดีไปจนถึงผู้จำหน่ายและผู้ปกครองด้วย ทั้งนี้ หากมีผู้ฝ่าฝืนกฎหมายจราจรให้ใช้บทลงโทษสูงสุดตามกฎหมาย รวมทั้งให้มี
การพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย โดยให้มีการเพิ่มอัตราโทษในฐานความผิดเกี่ยวกับการขับรถเร็ว การดื่มแล้วขับ เพื่อให้ผู้ขับขี่เกรงกลัวไม่กล้าฝ่าฝืนกฎหมาย
นายแพทย์สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในประเด็น “นโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมกับการพัฒนาเมือง” กล่าวว่า ที่ผ่านมาในส่วนของระดับชาติ และทางท่านนายกเทศมนตรี เทศบาลนคร เทศบาลเมือง หรือเทศบาลตำบลได้มีการขับเคลื่อนงานเรื่องนวัตกรรมการลดอุบัติเหตุอยู่แล้ว และในยุคปัจจุบันในเขตเมืองและเขตชนบทที่ต่างกัน ซึ่งจากข้อมูลงานวิชาการในเรื่องของอุบัติเหตุประเทศไทย อาจจะต้องมีเรื่องการสอบสวนโรค เช่น การไปดูจุดเกิดเหตุว่าเป็นเพราะอะไรที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ และในส่วนของสช. นั้นอยากชวนมาร่วมกันในการทำนโยบาย ซึ่งวันนี้เป็นเวที สมัชชาสุขภาพสันนิบาตเทศบาล ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2568 ว่าด้วย “การขับเคลื่อนเมืองสุขภาวะ และ นวัตกรรมการลดอุบัติเหตุ” โดยทุกท่านที่ได้รับเชิญมาเข้าร่วมงานในวันนี้ ล้วนอยู่ในพื้นที่เขตเมือง เทศบาลเมือง เทศบาลนคร ซึ่งมีประชากรมากกว่าท้องถิ่นอื่น ๆ มีความซับซ้อน ของประชากรที่หลากหลาย ทั้งประชากรในท้องถิ่น ประชากรแฝง การออกแบบระบบสาธารณูปโภค และคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนมีความแตกต่างจากพื้นที่ท้องถิ่นอื่น ๆ
ทั้งนี้ยังมีการชี้แจงแนวทางการขับเคลื่อนสุขภาวะเขตเมืองและนวัตกรรมการลดอุบัติเหตุ โดย ดร.วัลลภ สุวรรณดี ประธานอนุกรรมการด้านวิชาการฯ นายสมชาย สุดเสนาะ ประธานอนุกรรมการด้านโครงสร้างพื้นฐานฯ และนายแพทย์อภิชาติ รอดสม รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ รวมทั้งนายเตชิต ชาวบางพรหม ผู้อำนวยการสำนักนโยบายสาธารณะเขตเมือง เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะแนวทางการขับเคลื่อนสุขภาวะเขตเมืองและนวัตกรรมการลดอุบัติเหตุ ตลอดจนมีการบรรยายหัวข้อนวัตกรรม AI การลดอุบัติเหตุบนท้องถนน และจัดพิธีปฎิญาณตนและรับมอบหมวกนิรภัย ประทับตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๗๒ พรรษา ให้แก่เทศบาลนคร และเทศบาลเมือง
//////// วรรณิกา รายงาน//////
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม:
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สช.
โทร. 02-8329141
แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับ " สช. จับมือ มหาดไทย พัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม ผลักดันการขับเคลื่อนเมืองสุขภาวะ และนวัตกรรมการลดอุบัติเหตุ ในพื้นที่เขตเมือง "